สิ่งที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยตั้งคำถามกันคือ
วิญญาณมีจริงหรือไม่ แล้วโลกหลังความตายเป็นอย่างไร?
ไม่ต้องสงสัย คติทางพุทธศาสนา ซึ่งให้ความสำคัญกับกรรม แสดงให้เห็นว่าชีวิตเป็นการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏ เมื่อชีวิตหนึ่งสิ้นสุดลง วิญญาณจะเคลื่อนจากภาพเก่าสู่ภพใหม่ทันที แต่จะไปเกิดเป็นอะไรขึ้นอยู่กับกรรม
ในหลาย ๆ วัฒนธรรมความเชื่อเรื่องวิญญาณออกจากร่างเป็นความเชื่อที่คล้ายกัน และเป็นประสบการณ์คนละส่วนกับประสบการณ์ของคนใกล้ความตาย ในการสำรวจในปี 2521 พบว่า มีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน 50 วัฒนธรรมที่เชื่อเกี่ยวกับวิญญาณ และจิต ซึ่งสามารถออกจากร่างได้ ดังนั้น ทั้งประสบการณ์ถอดวิญญาณและความเชื่อเรื่อง "กายทิพย์" ในอีกภพหนึ่งจึงเป็นความเชื่อร่วมกันของมนุษยชาติ แล้วเรื่องนี้หมายความว่าอย่างไร หมายความว่า ความตายไม่ใช่การสิ้นสุดหรืออย่างไร หรือยังมีอีกร่างหนึ่งอยู่จริง
การตั้งทฤษฎีดังกล่าวดูจะเป็นเรื่องไร้สาระสำหรับนักวิทยาศาสตร์ แต่ต้องไม่ลืมว่า หลายครั้งวิทยาศาสตร์เองไม่สามารถนำไปใช้วัด หรือทดสอบเรื่องราวที่เป็นอภิปรัชญาได้เลย
ก่อนหน้านี้เคยมีการพิสูจน์ถึงการดำรงอยู่ของกายทิพย์ โดยทดลองชั่งน้ำหนักคนที่กำลังใกล้ตายเพื่อวัดน้ำหนักของวิญญาณที่ออกไปจากร่าง โดยการทดลองในต้นศตวรรษสามารถวัดได้ว่าวิญญาณหนักประมาณ 1 ออนซ์ (28 กรัม) แต่เมื่อเครื่องชั่งมีความละเอียดขึ้น น้ำหนักที่ได้กลับลดลง เท่ากับว่าการวัดน้ำหนักเชื่อถืออะไรไม่ได้
ต่อมามีความพยายามใช้เครื่องมืออย่างเช่น เครื่องวัดรังสีอัลตราไวโอเลตและอินฟราเรด เครื่องวัดการไหลของสนามแม่เหล็ก เครื่องวัดอุณหภูมิ เพื่อวัดขนาดของวิญญาณของคนที่สามารถถอดวิญญาณออกจากร่างได้ แต่ยังไม่มีใครประสบความสำเร็จ
ซูซาน แบลคมอร์ นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเวสต์ออฟอิงแลนด์ ประเทศอังกฤษมองว่า ถ้าทฤษฎีเรื่องกายทิพย์มีจริง มนุษย์น่าจะสามารถพิสูจน์ได้ไม่ยาก แต่ที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เห็นว่ามันยากเย็นแค่ไหน ดังนั้น หากเอาทฤษฎีกายทิพย์มาอธิบายเรื่องวิญญาณออกจากร่างคงไม่เป็นประโยชน์
ขณะเดียวกัน มีอีกทฤษฎีหนึ่งที่ใช้อธิบายเกี่ยวกับประสบการณ์ที่ผู้หมดสติมองเห็นภาพตัวเองเดินทางไปในอุโมงค์มืด ทฤษฎีดังกล่าวอธิบายว่า การมองเห็นภาพอุโมงค์เปรียบเสมือนการเห็นภาพย้อนอดีตสมัยที่ยังอยู่ในครรภ์มารดา อุโมงค์ก็คือช่องคลอด และแสงสว่างก็คือแสงจากโลกภายนอก
อย่างไรก็ดี ทฤษฎีนี้มีจุดอ่อนหลายประการ ประการแรก ช่องคลอดที่ให้กำเนิดทารกออกมานั้นมีลักษณะบีบรัด และบ่อยครั้งแพทย์ต้องช่วยดึงทารกออกมา ขณะที่มารดาต้องออกแรงเบ่ง เด็กโดยมากจะกลับหัวออกไม่ได้มองออกมา (ที่สำคัญยังหลับตาอยู่) ประการที่สอง จากการสัมภาษณ์พบว่า เด็กที่คลอดด้วยวิธีผ่าท้องมีประสบการณ์เห็นภาพอุโมงค์ในภาวะหมดสติเช่นกัน
มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ระบุว่า ไม่เฉพาะคนที่หมดสติใกล้ตายเท่านั้นที่มองเห็นภาพอุโมงค์ คนที่เป็นไมเกรน นอนหลับ ทำสมาธิ หรืออยู่ในภาวะผ่อนคลาย หรือมีสิ่งของหนัก ๆ ทับลูกตาอยู่ บางครั้งเกิดกับคนที่รับประทานยาบางอย่างเช่น แอลเอสดี ไฟโลไซบิน และเมสคาไลน์ ก็มองเห็นภาพอุโมงค์ได้เช่นกัน
ย้อนกลับไปราว 70 ปีก่อน มีงานวิจัยโดยเฮนริช คลูวาร์ จากมหาวิทยาลัยชิคาโก ระบุภาวะภาพหลอนไว้ 4 ประเภท ได้แก่ มองเห็นอุโมงค์ ภาพหมุนเกลียว ภาพตะแกรง และภาพตาข่ายใยแมงมุม เขากล่าวว่าภาพลวงตาเหล่านี้เป็นไปได้ว่ามาจากโครงสร้างของสมองส่วนคอร์เท็กซ์ที่ใช้ประมวลผลข้อมูลภาพ ภาพหลอนที่เกิดขึ้นนี้เป็นผลมาจากการสร้างแผนภาพที่เกิดขึ้นบนเรตินาก่อน และเกิดขึ้นอีกครั้งที่คอร์เท็กซ์
ต่อมาในปี 2525 แจ็ค โควาน นักชีวประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยชิคาโก ได้นำเอาการสร้างแผนผังนี้มาอธิบายการมองเห็นภาพอุโมงค์ เขากล่าวว่า กิจกรรมของสมองปกติแล้วจะมีสภาพคงที่ก็ต่อเมื่อเซลล์บางตัวไปขัดขวางการทำงานของเซลล์อื่น ครั้นเมื่อกิจกรรมในการยับยั้งเซลล์ลดลงส่งผลให้เกิดกิจกรรมมากมายในสมอง ภาวะดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้ในช่วงใกล้ตายเนื่องจากขาดออกซิเจน หรือเพราะรับประทานยาแอลเอสดี ซึ่งส่งผลไปขัดขวางกระบวนการยับยั้งเซลล์
คนส่วนใหญ่ "ตายไม่เป็น"
ในขณะที่วิทยาศาสตร์พยายามหาข้อพิสูจน์เกี่ยวกับประสบการณ์ใกล้ความตาย การถอดวิญญาณ และโลกหน้า และไม่ว่าผลจะลงเอยอย่างไร และสามารถหาคำตอบได้หรือไม่ แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง ในแต่ละวินาทีมีคนไข้จำนวนมากที่นอนรอความตาย ซึ่ง น.พ.ทองคำ จากโรงพยาบาลราชวิถีมองว่า คนไข้เหล่านี้ ถ้าได้รับการดูแลไม่ดี ไม่คำนึงถึงสภาพจิตวิญญาณ คนไข้ก็จะมีแต่ความทุกข์ใจ จิตใจไม่ดี เศร้าหมอง ส่งผลให้คนไข้ส่วนใหญ่ไปสู่ทุกขคติ
"ความตาย ถ้าตายไม่เป็นมันน่ากลัวมาก ถ้าตายพร้อมกับโทสะ ความหวาดกลัว จะไปนรก ตายด้วยความยินดี ติดใจในกามคุณ 5 โลภะเกิดส่วนใหญ่ไปเป็นเปรต ไม่รู้จักสภาวธรรมความจริง ตายไปเป็นสัตว์เดรัจฉาน ที่จะไปเป็นสุขนั้นน้อยมาก" น.พ.ทองคำ อ้างอิงคติทางพุทธศาสนา
อย่างไรก็ดี แนวโน้มการดูแลผู้ป่วยในปัจจุบัน แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ให้ความสำคัญต่อจิตวิญญาณของคนไข้มากขึ้น และมีความสนใจทางด้านนี้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการอบรมแพทย์ประจำบ้านเกี่ยวกับ End of Life Care และ Spiritual Aspect สอดแทรกไปในการเรียนการสอนเรื่องจรรยาแพทย์ด้วย ปัจจุบันจะเห็นว่าการดูแลคนไข้ไม่ได้คำนึงถึงสภาพการรักษาร่างกายอย่างเดียว แต่จะคำนึงถึงสภาพทางจิตวิญญาณด้วย ยกตัวอย่าง คนไข้มะเร็งระยะสุดท้าย ทำอย่างไรถึงให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่สงบสุข และไม่ทรมาน
"ผู้ป่วยบางคนไม่ต้องการให้ใช้เครื่องพีซีอาร์ อย่างคนไข้ระยะสุดท้าย เขาต้องการตายอย่างเดียว ตายอย่างสงบ ไม่ทุกข์ทรมาน ถ้าผู้ป่วยเคยฝึกสมาธิวิปัสสนามาบ้าง ก็สามารถทำจิตใจให้ผ่องใสได้ ถ้าไม่เคยฝึกมาก่อนจะเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก" น.พ.ทองคำ กล่าว
บางครั้งแพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจะคอยแนะนำให้ญาตินำเทปธรรมะมาเปิดให้คนไข้ฟัง เพื่อให้จิตผ่องใส และไปสู่สุขคติ หรือในบางกรณีที่ผู้ป่วยอยู่ในขั้นโคม่า แพทย์จะประคองให้ยาระงับปวดเต็มที่ แต่ไม่ให้หมดสติเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดำเนินจิตให้เป็นกุศลได้
"ในต่างประเทศ บาดหลวงจะมาเยี่ยมอยู่ข้าง ๆ ผู้ป่วย ของเราเองก็มี เราจะให้คนไข้ได้ทำบุญเป็นระยะสุดท้าย หรือทำสังฆทานอาสัญกรรม ซึ่งเป็นการทำบุญใกล้ตาย"
แพทย์อายุรกรรมโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า ถ้าญาติเข้าใจในเรื่องนี้จะช่วยคนไข้ได้มาก แต่ถ้าญาติไม่เข้าใจ ร้องไห้เสียใจ ยิ่งจะทำให้คนไข้ทุกข์ขึ้น บรรยากาศยิ่งเลวร้ายลง เต็มไปด้วยความซึมเซาและเศร้าหมอง
น.พ.ทองคำยังแนะนำด้วยว่า การฝึกจิตเป็นเรื่องสำคัญ และควรเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ เป็นเรื่องที่ควรรู้ อย่าไปปฏิเสธ รวมถึงเรื่องภพภูมิ เนื่องจากมันจะไปปิดกั้นการทำความดี
"การไม่เชื่อเรื่องสวรรค์หรือนรก มันจะไปปิดกั้นโอกาสทำความดี ลองคิดดูว่า ถ้าห้องไม่มีแสงสว่าง ห้องก็ดูมืดมิด มองไม่เห็นประตู พอมีคนบอกว่าข้างนอกมีแสงสว่าง มีประตูออก แต่คนข้างในไม่เชื่อ เพราะพวกเขามองไม่เห็นและปฏิเสธมัน คนเหล่านี้ก็ไม่มีทางเห็นแสงสว่าง"